โค้ดข่าวครูไทย

วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิธีประหารสมัยกรุงศรีอยุธยา

51-วิธีประหารสมัยกรุงศรีอยุธยา

วิธีประหารสมัยกรุงศรีอยุธยา


ในสมัยกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรที่รุ่งเรืองที่สุดอีกยุคสมัยหนึ่งของไทยเรา พบว่า มีการตราบทลงโทษขั้นรุนแรงที่สุดคือ โทษประหารชีวิตเอาไว้ในพระไอยการกระบถศึก ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก่อนจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่กฎหมายฉบับนี้มิได้มีการแก้ไขในบทลงโทษความผิดขั้นประหารชีวิตและวิธีการประหารชีวิตเลยแม้แต่น้อย คือยังคงลักษณะเดิมไว้แต่ครั้งการตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ทุกประการ

โดยวิธีการประหารชีวิตตามพระไอยการกระบถศึก บันทึกและอธิบายเอาไว้อย่างละเอียดถึงวิธีการลงโทษประหาร 21 วิธีหรือ 21 สถาน ดังนี้

        สถาน 1 คือ ให้ต่อยกระบานศีศะ (กบาลศีรษะ) เลิกออก (เปิดออก) เสียแล้ว เอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใหญ่ใส่ลงไปในมันสะหมอง (มันสมอง) ศีศะพลุ่งฟู่ขึ้นดั่งม่อ (หม้อ) เคี่ยวน้ำส้มพะอูม

        สถาน 2 คือ ให้ตัดแต่หนังจำระ (จาก) เบื้องหน้าถึงไพรปากเบื้องบนทั้งสองข้างเป็นกำหนด ถึงหมวกหู (ใบหู) ทั้งสองข้างเป็นกำหนด ถึงเกลียวคอชายผมเบื้องหลังเป็นกำหนด (หนังบริเวณคอถึงท้ายทอย) แล้วให้มุ่นกระหมวดผมเข้าทั้งสิ้น (ม้วนเข้าหากัน) เอาท่อนไม้สอดเข้าข้างละคน โยกคลอนสั่นเพิกหนังทั้งผมนั้นออกเสียแล้วเอากรวดทรายหยาบขัดกระบานศีศะชำระให้ขาวเหมือนพรรณศรีสังข์

        สถาน 3 คือ ให้เอาขอเกี่ยวปากให้อ้าไว้ แล้ให้ตามประทีบ (ดวงไฟ) ไว้ในปาก ไนยหนึ่ง (นัยหนึ่ง) เอาปากสิวอันคมนั้นแสะแหวะผ่าปากจนหมวกหู (ใบหู) ทั้งสองข้าง แล้วเอาขอเกี่ยวให้อ้าปากไว้ให้โลหิตไหลออกเต็มปาก

        สถาน 4 คือ เอาผ้าชุบน้ำมันพันให้ทั่วร่างกายแล้วเอาเพลิงจุด

สถาน 5 คือ เอาผ้าชุบน้ำมันพันนิ้วทั้งสิบนิ้วแล้วเอาเพลิงจุด

        สถาน 6 คือ เชือดเนื้อให้เป็นแรงเป็นริ้วอย่าให้ขาดจากกัน ตั้งแต่ใต้คอลงไปถึงข้อเท้าแล้วเอาเชือกผูกจำ ให้เดินเหยียบริ้วเนื้อริ้วหนังแห่งตน ให้ฉุดคร่าตีจำให้เดินไปกว่าจะตาย

        สถาน 7 คือ เชือดเนื้อให้เนื่องด้วยหนังเป็นแร่งเป็นริ้ว ตั้งแต่ใต้คอลงมาถึงเอวและให้เชือดตั้งแต่เอวให้เนื่องด้วยหนังเป็นแร้งเป็นริ้วลงมาถึงข้อเท้ากระทำหนังเบื้องบนให้คลุมลงมาเหมือนนุ่งผ้า

        สถาน 8 คือ ให้เอาห่วงเหล็กสวมข้อศอกทั้งสองข้าง ข้อเข่าทั้งสองข้างให้มั่นแล้วเอาหลักสอดในวงเหล็กแย่งขึงตรึงลงไว้กับแผ่นดินอย่าให้้ไหวตัวได้ แล้วเอาเพลิงรน (ลน) ให้รอบตัวจนกว่าจะตาย

        สถาน 9 คือ ให้เอาเบ็ดใหญ่ที่มีคมสองข้างเกี่ยวทั่วร่างเพิก (เปิด) หนังเนื้อและเอ็นน้อยใหญ่ให้หลุดขาดออกมาจนกว่าจะตาย

        สถาน 10 คือ ให้เอามีดที่คมเชือดเนื้อให้ตกออกจากกายแต่ทีละตำลึง(นำเนื้อมาชั่งให้ได้น้ำหนักหนึ่่งตำลึง:มาตราวัดสมัยโบราณ) จนกว่าจะสิ้นมังสา (เนื้อ)

        สถาน 11 คือ ให้แล่สับทั่วร่างแล้ว เอาแปรงหวีชุบน้ำแสบกรีดครูดขูดเสาะหนังและเนื้อแลเอ็นน้อยใหญ่ให้ลอกออกให้สิ้นให้อยู่แต่ร่างกระดูก

        สถาน 12 คือ ให้นอนลงโดยข้างๆ หนึ่งแล้วให้เอาหลาวเหล็กตอกลงไปโดยช่องหูให้แน่นกับแผ่นดินแล้วจับขาทั้งสองข้างหมุนเวียนไปดังบุคคลทำบังเวียน (เวียนเทียน)

        สถาน 13 คือ ทำมิให้หนังพังหนังขาด แล้วเอาลูกสีลา (ลูกหิน) บดทุกกระดูกให้แหลกย่อย แล้วรวบผมเข้าทั้งสิ้น ยกขึ้นหย่อนลงกระทำให้เนื้อเป็นกองเป็นลอมแล้วพับห่อเนื้อหนังกับทั้งกระดูกนั้นทอดวางไว้ดั่งตั่งอันทำด้วยฟางซึ่งเอาไว้เช็ดเท้า

        สถาน 14 คือ ให้เคี่ยวน้ำมันให้เดือดพลุ่งพล่าน แล้วลาด**censor**ลงมาแต่ศีศะ (ศีรษะ) จนกว่าจะตาย

        สถาน 15 คือ ให้กักขังสุนัขร้ายทั้งหลายไว้ อดอาหารหลายวันให้เต็มอยากแล้วปล่อยให้กัดทึ้งเนื้อหนังกินให้เหลือแต่ร่างกระดูกเปล่า

        สถาน 16 คือ ให้เอาขวานผ่าอกทั้งเป็นแหกออกดั่งโครงเนื้อ

        สถาน 17 คือ ให้แทงด้วยหอกทีละน้อยๆ จนกว่าจะตาย

        สถาน 18 คือ ให้ขุดหลุมฝังเพียงเอว แล้วเอาฟางปกลงคลุมร่างก่อนคลอกด้วยเพลิงพอหนังไหม้แล้วไถด้วยไถเหล็ก ให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่เป็นริ้วน้อยริ้วใหญ่

        สถาน 19 คือ ให้เชือดเนื้อล่ำออกทอดด้วยน้ำมัน เหมือนทอดขนมให้กินเนื้อตัวเองจนกว่าจะตาย

        สถาน 20 คือ ให้ตีด้วยตะบองสั้นตะบองยาวจนกว่าจะตาย

        สถาน 21 คือ ตีด้วยหวายที่มีหนามจนกว่าจะตาย


เกร็ดความรู้ เรื่องเล่าจากลานประหาร


การประหารชีวิต ถือเป็นบทลงโทษที่รุนแรงที่สุดในทุก ๆ ประเทศ ที่มีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งถ้าหากใครได้อ่านหรือศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ซักครั้ง คงจะรู้สึกไม่ต่างกันหรอกค่ะว่า แม้ว่าในแต่ละประเทศจะมีเครื่องมือประหารชีวิตที่แตกต่างกันออกไป แต่ความรุนแรง หรือความซาดิสม์นั้นไม่ได้ต่างกันเลย เพราะไม่ว่าจะใช้เครื่องมือไหน ๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีจุดประสงค์เดียวกัน นั่นคือทรมานคนผิดอย่างเลือดเย็นแล้วปล่อยให้เจ็บปวดตายไปในที่สุด ในประเทศไทยก็เช่นกัน โทษประหารที่เคยทำกันมาตั้งแต่อดีตนั้นขึ้นชื่อว่าโหดใช่ย่อย

เริ่มตั้งแต่สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์


วิธีการประหารชีวิตจะเน้นความทรมานชนิดที่ได้ยินแล้วยังขนลุก ไม่ว่าจะเป็นการเอาน้ำมันเดือดราดหัวจนตาย เอามีดและขวานผ่าอกแหวกตับไตไส้พุงทั้งเป็นจนตาย เอาเบ็ดใหญ่เกี่ยวเนื้อให้หลุดทีละส่วนจนตาย เอามีดคม ๆ แล่เนื้อลอกหนังออกทีละนิดจนตาย เอาหอกค่อย ๆ ทิ่มแทงจนตาย หรือฝังดินครึ่งตัวแล้วเผาส่วนบนจนทรมานตาย

ซึ่งโทษแสนทรมานในสมัยนั้น ก็จะตัดสินจากความผิดที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่นถ้าใครเผาบ้านเมือง ก็จะถูกประหารด้วยการเอาผ้าชุบน้ำมันพันรอบตัวแล้วจุดไฟเผาทั้งเป็น อย่างงี้เป็นต้น และที่สำคัญการประหารชีวิตทุกรูปแบบก็จะต้องทำกันแบบโจ่งแจ้งต่อหน้าชาวบ้านมากมาย เพื่อให้คนเกรงกลัว และมันก็ได้ผลดีเลยล่ะค่ะ เพราะเวลาที่มีการประหารนักโทษซักคน บ้านเมืองก็สงบสุขไปพักใหญ่ทีเดียว เพราะไม่มีใครกล้าทำความผิด ไม่มีใครอยากถูกลงโทษอย่างทรมานอย่างที่ตัวเองไปเห็นมา

สมัยอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์


การประหารด้วยวิธีทรมานสารพัดก็เริ่มค่อย ๆ หายไป เหลืออยู่แค่วิธีเดียวง่าย ๆ นั่นคือ การตัดคอหรือกุดหัวเท่านั้น เป็นวิธีฉับเดียวดับ ไม่ทันได้ทรมานก็ตายแล้ว แถมก่อนหน้าวันประหารก็ยังมีการเลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำอย่างดีอีก และพอถึงวันประหารนักโทษก็ถูกปิดตา ไม่ต้องเห็นบาดแผล ไม่ต้องรู้ว่าใครกำลังจะทำอะไรเรา ไปแบบสบาย ๆ เลยทีเดียว

ในการประหารนักโทษ 1 คน เค้าจะใช้เพชฌฆาตถึง 3 คน ซึ่งโดยปกติแล้ว ถ้าเพชฌฆาตดาบ 1 จะพลาด ก็พลาดมากที่สุดแค่ตัดคอแล้วตายแต่คอดันไม่ขาด ซึ่งแบบนี้เพชฌฆาตดาบ 2 ก็จะรีบเข้ามาฟันให้ขาดทันที ถ้ายังไม่ขาดอีกก็มีดาบ 3 สำรองไว้อีก ต้องเอาให้ขาดอย่างแท้จริงเพื่อที่จะเอาหัวไปเสียบประจานนั่นเอง ส่วนร่างกายก็มอบให้ญาตินำไปทำพิธีต่อไป

ในกรณีที่นักโทษเป็นเชื้อพระวงศ์หรือกษัตริย์ ก็จะมีวิธีเฉพาะคือการทุบด้วยท่อนจันทน์ ที่ถือเป็นไม้หอม เป็นการให้เกียรตินักโทษ โดยการประหารด้วยท่อนจันทน์นี้ จะใช้วัดปทุมคงคาเป็นลานประหาร ส่วนวิธีการ ก็คือ จะนำร่างของผู้ถูกประหารสวมด้วยถุงแดงแล้วรัดถุงให้แน่น เพื่อไม่ให้ใครแตะต้องพระวรกาย และไม่ให้ใครเห็นพระศพด้วย จากนั้นเพชฌฆาตที่ได้รับนามเฉพาะว่า "หมื่นทะลวงฟัน" ก็จะใช้ไม้จันทน์ขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายสากตำข้าวทุบลงไปสุดแรงบริเวณพระเศียรหรือพระนาภี เสร็จแล้วก็นำไปฝังในหลุม 7 คืนเพื่อให้มั่นใจว่าสิ้นพระชนม์แล้วจริง ๆ ก่อนขุดขึ้นมาประกอบพิธีต่อไป

และหากใครสงสัยว่าทำไมไม่ใช้วิธีเปิดผ้าดูว่าสิ้นแล้วหรือไม่ ก็อย่างที่บอกไปค่ะว่าไม่ว่าจะอย่างไร หลังจากนำนักโทษใส่ถุงแดงแล้วก็ห้ามเปิดให้ใครเห็นหรือแตะต้องพระวรกายโดยตรงได้เป็นอันขาด

แต่!วิธีการประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ เลิกล้มไปในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากมีการประกาศใช้กฎหมาย ร.ศ. 127 ว่า ให้ประหารชีวิตเชื้อพระวงศ์ด้วยวิธีเดียวกันกับสามัญชน ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นนักโทษ และในที่สุด ในปี 2477 ก็ได้ล้มเลิกการประหารชีวิตด้วยการตัดหัวไป เปลี่ยนเป็นการใช้ปืนยิงแทน โดยวิธีการยิงปืนประหารนี้ ก็จะมีขั้นตอนคล้ายกับการประหารชีวิตด้วยการตัดหัว ต่างที่การยิงปืนประหาร จะทำในห้องประหารมิดชิด ไม่มีการเรียกประชาชนมามุงดูเหมือนกับการประหารชีวิตด้วยการตัดหัวอีกต่อไป

การประหารชีวิตด้วยปืนทำกันมาได้ไม่นานนัก เพราะเมื่อปี 2545 ได้เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตด้วยปืน มาเป็นการฉีดยาแทน ซึ่งการฉีดยาจะมี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นแรกจะฉีดยาให้นักโทษสลบก่อน จากนั้นค่อยฉีดยาหยุดการทำงานของปอดและกระบังลม และสุดท้ายก็จะฉีดยาที่ทำให้หัวใจหยุดเต้น เป็นอันเสร็จพิธี เรียกว่าสบายกว่าวิธีไหน ๆ ไม่ต้องตื่นเต้นว่าจะถูกสับหัวหรือยิงปืนเมื่อไหร่ และวิธีนี้ก็ยังเป็นวิธีที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้คือวิวัฒนาการของการประหารชีวิตในสยาม ที่ดูเหมือนจะลดความทรมานลงทุกวัน ๆ ขณะเดียวกันที่สถิติการประหารชีวิตก็ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ทั้งในไทยและหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งที่เป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่เพราะว่าคนเรามีคุณธรรมกันมากขึ้นแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะบทลงโทษในสังคมทุกวันนี้มันเบาลงเรื่อย ๆ ต่างหาก..

ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคที่บทลงโทษในสังคมเบาลงทุกวัน ขณะที่โจรผู้ร้ายมีมากขึ้นแบบนี้ ก็ยังมีคนในหลายประเทศออกโรงต่อต้านการประหารชีวิตกันอย่างมากมาย เพราะเห็นว่ามันโหดร้าย ก็ไม่แน่ว่า..

บางที โทษประหารอาจถูกล้มเลิกไปในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าก็เป็นได้ และถ้าวันนั้นมาถึงเมื่อไหร่ สังคมก็คงวุ่นวายขึ้นน่าดู

http://variety.teenee.com/foodforbrain/69376.html

50-สงครามเวียดนาม

50-สงครามเวียดนาม

สงครามเวียดนาม

เอกราชของขบวนการชาตินิยมเวียดมินห์ ต่อต้านอำนาจของจักรวรรดินิยมเดิมคือ ฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสถอนตัวสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทนที่และสนับสนุนเวียดนามใต้ ความขัดแย้งจึงกลายสงครามตัวแทนในช่วงสงครามเย็น ระหว่างกองกำลังเวียดนามใต้นิยมประชาธิปไตยที่มีสหรัฐสนับสนุนกับกองกำลังนิยมเวียดนามเหนือนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตหนุนหลัง

ภูมิหลังสงครามเวียดนาม


          เวียดนามเคยป็นเมืองขึ้นของจีนสมัยโบราณกว่าร้อยปี จึงรับอิทธิพลความเชื่อลัทธิขงจื๊อและวัฒนธรรมจีนมาผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมืองของตน ต่อมาในคริสต์สตวรรษที่ 18-19 ฝรั่งเศสขยายอำนาจมายึดครองเวียดนาม กัมพูชาและลาว รวมเรียกว่าอินโดจีนฝรั่งเศส ต่อมาได้มีขบวนการชาตินิยมเรียกร้องเอกราชแต่ถูกฝรั่งเศสปราบปรามอย่างรุนแรง ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก แต่มีผู้นำคนสำคัญที่สามารถนำความสำเร็จมาให้ขบวนการชาตินิยมเวียดนามหรือเวียดมินห์ คือ โฮชิมินห์

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง กองกำลังชาตินิยมเวียดมินห์ให้การสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรโดยหวังจะได้เอกราชเป็นการตอบแทน แต่ฝรั่งเศสไม่ยินยอมและกลับมาครอบครองอินโดจีนอีกครั้งหลังสงครามโลก ทำให้เกิดการสู้รบกันตั้งแต่ ค.ศ. 1946 และสิ้นสุดลงในค.ศ 1954 เมื่อฝรั่งเศสแพ้ในสมรภูมิเดียนเบียนฟู มีการทำสัญญาสงบศึกที่ปารีส ฝรั่งเศสถอนตัวจากอินโดจีน มีผลให้ประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชาได้รับเอกราช และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อรวมเวียดนาม แต่ขณะที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง ให้แบ่งเวียดนามเป็นสองส่วนที่เส้นขนานที่ 17 เวียดนามเหนือนำโดยโฮชิมินห์ ศูนย์กลางอยู่ที่ฮานอยและเวียดนามใต้ นำโดยกษัตริย์เบาได๋ ศูนย์กลางอยู่ที่ไซ่ง่อน

สหรัฐอเมริกากับสงครามเวียดนาม

          การแทรกแซงของสหรัฐเริ่มต้นต่างจากการเข้าสู่สงครามเกาหลี เนื่องจากปัญหาการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรวมชาติเวียดนาม เพราะเกรงว่าชาวเวียดนามจะเลือกโฮชิมินห์ ซึ่งเป็นวีรบุรุษกู้ชาติเวียดนามทั้งสองส่วนมีวิถีชีวิตต่างกันและนิยมความคิดทางการเมืองไม่ตรงกัน  เวียดนามเหนือส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรยากจน เสียเปรียบเจ้าของที่ดิน จึงนิยมคอมมิวนิสต์ ทั้งยังได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตและจีนคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่รบกับฝรั่งเศส สื่งที่สำคัญคือ ความนิยมในตัววีรบุรุษ ผู้นำขบวนการชาตินิยมคือ โฮชิมินห์  หากมีการเลือกตั้งประชาชนทั่วไปมีแนวโน้มจะเลือกโฮชิมินห์ วีรบุรุษของตน โดยไม่สนใจลัทธิการเมือง สหรัฐจึงเข้ามาสนับสนุนเวียดนามใต้แทนฝรั่งเศส เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เพราะเกรงว่าผู้นิยมคอมมิวนิสต์จะได้ชัยชนะและทำให้เวียดนามเป็นคอมมิวนิสต์ การยกเลิกการเลือกตั้งประธานาธิบดีทำให้เวียดนามเหนือประกาศสงครามกับเวียดนามใต้อีกครั้ง เพื่อใช้กำลังรวมเวียดนามเป็นประเทศเดียวกัน สหรัฐมีความเชื่อฤษฎีโดมิโน คือ เมื่อชาติหนึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ ชาติที่อยู่ใก้ลเคียงจะถูกคุกคามและตกอยู่ในอิทธิพลคอมมิวนิสต์ด้วย เช่นเดียวกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออก  จึงเข้ามาปกป้องประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มิให้เป็นไปตามนโยบายวาทะทรูแมนและแผนการมาร์แชล

          สหรัฐอเมริกาเริ่มส่งที่ปรึกษาทางทหารและส่งอาวุธยุทธปกรณ์ เพื่อพัฒนากองทัพให้กับเวียดนามใต้ ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีไอเซ็นเฮาว์และประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี ต่อมาเมื่อเคเนดีเสียชีวิตจากการลอบสังหารที่ดัลลัส เท็กซัส รองประธานาธิบดีจอห์นสันได้รับตำแหน่งผู้นำสหรัฐแทน ได้ส่งกำลังพลนับแสนคนพร้อมอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูง  เข้ามาสกัดกั้นการคุกคามของคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม ทำให้สงครามเวียดนามขยายตัวและรุนแรงมากขึ้น นับแต่ ค.ศ. 1965 เป็นต้นมา

          ฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือมีกองทัพเวียดมินห์  สำหรับการรบเต็มรูปแบบและมีขบวนการเวียดกง เป็นประชาชนทั่วไปที่นิยมคอมมิวนิสต์หรือถูกบังคับให้เป็นคอมมิวนิสต์ ปฏิบัติการแทรกซึมและบ่อนทำลายอยู่ทั่วไปในเวียดนามใต้ ทำให้ยากต่อการปราบปราม และทำให้สื่อต่าง ๆเสนอภาพเสมือนทหารสหรัฐรังแกประชาชนเวียดนามที่อ่อนแอกว่า

          ในช่วงแรกของสงคราม เวียดนามเหนือได้ใช้ยุทธวิธียกกำลังทำสงครามเต็มรูปแบบกับกองทัพสหรัฐ บุกเข้ามาใต้เส้นขนานที่ 17 และสังหารประชาชนอย่างโหดเหี้ยม แม้จะไม่ได้ชัยชนะแต่ทำให้ชาวเวียดนามใต้เกิดความเกรงกลัวอำนาจของคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนืออย่างมาก จึงมักยอมเข้ากับ เวียดนามในฐานะกองกำลังเวียดกง ปฏิบัติการแทรกซึม บ่อนทำลายในเวียดนามใต้

          สหรัฐและพันธมิตรในองค์การ SEATO ได้ระดมความร่วมมือทางทหารเข้าไปรบในเวียดนามแต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะส่วนใหญ่เวียดนามเหนือและเวียดกงรบแบบกองโจร ลอบวางระเบิดและซุ่มโจมตี ทำให้ทหารเวียดนามใต้และทหารนาวิกโยธินสหรัฐเสียชีวิตจำนวนมาก จึงใช้การปราบปรามอย่างรุนแรง เช่น  ยิงทิ้งผู้ที่คาดว่าเป็นเวียดกง การเผาทำลายหมู่บ้าน ตลอกจนการทิ้งระเบิดปูพรมตามจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เช่น เมืองท่าและชายแดนเวียดนาม-กัมพูชา เพื่อตัดเส้นทางการลำเลียงทหารและอาวุธจากเวียดนามเหนือสู่เวียดนามใต้ผ่านทางกัมพูชา ทำให้เกิดความเสียหายต่อพลเรือนจำนวนมหาศาล ส่งผลให้ทั่วโลกประนามการกระทำของสหรัฐ

CIA ของสหรัฐยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลเวียดนามใต้บ่อยครั้ง แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการคอรับชั่นในรัฐบาลที่ตั้งขึ้นได้ ทำให้งบประมาณที่สหรัฐให้ไปปรับปรุงกองทัพหรือพัฒนาชนบท กลับไปตกอยู่ในมือของข้าราชการระดับสูงและนายทหารของเวียดนามใต้ การรบในเวียดนามซึ่งทำให้สหรัฐสูญเสียทหารจำนวนมาก เพราะไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศและมีความกดดันจากการเผชิญกับเวียดกงที่รบในประเทศตนเอง ยากต่อการเอาชนะ   
       คนหนุ่มสาวในสหรัฐจึงเดินขบวนเรียกร้องสันติภาพทั่วประเทศ เรียกร้องให้ถอนทหารจากสงครามเวียดนาม   เมื่อมีการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีจอห์นสันจึงไม่ลงสมัครอีก ทำให้นิกสันซึ่งเสนอนโยบายถอนทหารสหรัฐออกจากเวียดนามและลดบทบาททางทหารทั่วโลกได้รับชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนต่อมา นิกสันจึงเจรจากับจีน สนับสนุนโยบายจีนเดียวแลกกับการให้จีนยอมรับการถอนทหารจากเวียดนามตั้งแต่ ค.ศ. 1973  หลังจากนั้นสหรัฐได้ตกลงถอนทหารจนสิ้นสุดในเดือนเมษายน 1975 กองทัพเวียดนามเหนือเข้ายึดครองไซง่อนได้สำเร็จและเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น โฮชิมินห์ซิตี

49-สงครามเย็น( Cold War )

49-สงครามเย็น( Cold War )

สงครามเย็น( Cold War ) 

สงครามเย็นหมายถึง การประจันหน้าด้านอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้นำลัทธิเสรีประชาธิปไตยกับสหภาพโซเวียตประเทศ ผู้นำลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นการปะทะกันทุก ๆ วิถีทาง ยกเว้นด้านการทหาร การขยายอำนาจในสงครามเย็นจึงเป็นลักษณะการแสวงหาพรรคพวกร่วมอุดมการณ์และแข่งขันกันเป็นมหาอำนาจทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ โดยไม่ทำสงครามกันอย่างเปิดเผย แต่เป็นการสนับสนุนให้ประเทศที่เป็นพวกของแต่ละฝ่ายทำสงครามตัวแทน 

สาเหตุของสงครามเย็น 


สหรัฐอเมริกาได้ประกาศวาทะทรูแมน (Trueman Doctrine)ในค.ศ 1947 มีสาระสำคัญว่า ...สหรัฐอเมริกาจะโต้ตอบการคุกคามของประเทศคอมมิวนิสต์ทุกรูปแบบและทุกสถานที่ แล้วแต่สหรัฐจะเห็นสมควร โดยไม่จำกัด ขนาด เวลา และสถานที่ ....จะให้ความช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ให้พ้นจากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่กรีซและตุรกีเป็นตัวอย่าง สืบเนื่องมาจากสหภาพโซเวียตเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และแทรกแซงให้ความช่วยเหลือกบฎในตุรกีและกรีกเพื่อจัดตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ การประกาศวาทะทรูแมนจึงเป็นจุดเริ่มต้นสงครามเย็นที่แท้จริง ต่อมาสหรัฐได้ประกาศแผนการมาร์แชล(Marshall Plan) เพื่อให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจกับยุโรปตะวันตก

ขณะเดียวกันสหภาพโซเวียตได้ตอบโต้ด้วยการจัดตั้ง องค์การโคมินฟอร์ม ( Cominform ) ใน ค.ศ. 1947 เพื่อขยายลัทธิคอมมิวนิสต์สู่ประเทศต่าง ๆ และสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก ต่อมาได้ซึ่งพัฒนามาเป็นองค์การ โคมินเทอร์น (Comintern)

การเผชิญหน้าทางทหาร ใน ค.ศ. 1949 สหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization ) ประกอบด้วยภาคี 12 ประเทศ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักซัมเบอร์ก สหรัฐอเมริกา แคนาดา เดนมาร์ค ไอซ์แลนด์ อิตาลี นอร์เวย์และเปอร์ตุเกส ต่อมาตุรกีและกรีซ ได้เข้าเป็นสมาชิก และในค.ศ. 1955 เยอรมนีตะวันตกได้เข้าเป็นสมาชิกด้วย

ในค.ศ.1955 สหภาพโซเวียตได้ชักชวนให้ประเทศในยุโรปตะวันออกลงนามในสนธิสัญญาวอร์ซอร์ ( Warsaw Pact)ซึ่งเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางทหาร ประเทศภาคี คือ สหภาพโซเวียต เยอรมนีตะวันออก โปแลนด์ ฮังการี รูมาเนีย บัลกาเรียและเชคโกสโลวาเกีย

วิกฤตการณ์เบอร์ลิน(The Berlin Blockade) ค.ศ.1948 

เบอร์ลินถูกแบ่งเป็น 4 ส่วนแบ่งเขตยึดครองคือ ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ได้ส่วนยึดครองทางเบอร์ลินตะวันตกและเยอรมนีตะวันตก สหภาพโซเวียตได้เบอร์ลินส่วนตะวันตกและเยอรมนีตะวันตก เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองสหภาพโซเวียตได้ประกาศปิดล้อมเบอร์ลินไม่ให้สัมพันธมิตรเข้าออกเบอร์ลินในวันที่ 19 มิถุนายน 1948 ถึง พฤษภาคม 1949 มิให้มีการติดต่อกับภายนอก เพื่อบังคับให้มหาอำนาจตะวันตกละทิ้งเบอร์ลิน โดยปิดเส้นทางคมนาคมทางบก ทางน้ำ ตัดกระแสไฟฟ้าประเทศสัมพันธมิตรและคณะมนตรีความมั่นคงแก้ปัญหาโดยการใช้เครื่องบินบรรทุกเครื่องอุปโภคบริโภคไปโปรยให้ชาวเบอร์ลินตะวันตกเป็นเวลากว่า 1 ปี เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การแบ่งแยก เยอรมันนีเป็น 2 ประเทศและแบ่งเบอร์ลินเป็น 2 ส่วนอย่างถาวร

การแบ่งเขตยึดครองเบอร์ลินของของมหาอำนาจ 4 ประเทศ สร้างกำแพงยาวกว่า 27 ไมล์
กั้นระหว่างเบอร์ลินในค.ศ.1961 เรียกกำแพงเบอร์ลิน
ในค.ศ.1949 เยอรมนีตะวันตกได้ตั้งเป็นประเทศ ชื่อว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันและสหภาพโซเวียตได้ตั้งเขตปกครองของตนในเยอรมนีตะวันออกเป็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน เมื่อแบ่งประเทศแล้ว ชาวเยอรมนีตะวันออกได้อพยพมาอยู่ในเขตตะวันตกมากขึ้นตลอดเวลา ทำให้รัสเซียต้อง สร้างกำแพงยาวกว่า 27 ไมล์ กั้นระหว่างเบอร์ลินใน ค.ศ.1961 เรียก กำแพงเบอร์ลิน

เครื่องบินสัมพันธมิตรขนส่งอาหารให้กับประชาชนในเบอร์ลินตะวันตก

กำแพงเบอร์ลิน
กำแพงเบอร์ลินสร้างในปี ค.ศ. 1961 แบ่งเบอร์ลินตะวันตกและตะวันออก ออกจากกัน เป็นสัญลักษณ์สำคัญหนึ่งของสงครามเย็น และถูกทำลายไปเมื่อ ค.ศ. 1989 ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1990 โดยมิคาอิล กอบาชอฟ ยินยอมให้เยอรมันทั้งสองตัดสินใจอนาคตตนเอง โดยสหภาพโซเวียตจะไม่เข้าแทรกแซงจึงมีการรวมเยอรมันเป็นประเทศเดียวกันอย่างเป็นทางการ เรียกว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี 

เอกสารอ้างอิง

  • คณะกรรมการบริหารวิชาบูรณาการ. มรดกอารยธรรมโลก. กรุงเทพมหานคร :สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , 2545.
  • สุปราณี มุขวิชิต.ประวัติศาสตร์ยุโรป.เวียนนา ค.ศ.1815 – เบอร์ลิน 2 นคร.
  • สุวิมล รุ่งเจริญ. อารยธรรมสมัยใหม่-ปัจจุบัน. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2540.

48-สงครามโลกครั้งที่ 2

48-สงครามโลกครั้งที่ 2

แผนที่สงครามโลกครั้งที่ 2ในยุโรป
สงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามโลกครั้งที่สองเป็นความขัดแย้งระหว่างคู่สงคราม คือ ฝ่ายอักษะ ประกอบด้วย เยอรมนี อิตาลีและญี่ปุ่น อีกฝ่ายหนึ่งได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ต่อมาจึงมีประเทศอื่นๆ เข้าร่วม สงคราม ทำให้สงครามขยายไปทั่วโลก 

สาเหตุเริ่มต้นของสงคราม 

สนธิสัญญาสันติภาพที่ไม่เป็นธรรม 

ระบุให้ประเทศที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย ค่าปฏิกรรมสงครามและเสียดินแดน เช่นสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เยอรมนี ต้องเสียอาณานิคม ต้องคืนแค้วนอัลซาล – ลอเรนแก่ฝรั่งเศส โปเซนและปรัสเซียตะวันตกให้โปแลนด์ มอรสเนท ยูเพนและมัลเมดีให้เบลเยี่ยม ชเลสวิคและโฮลสไตน์ให้เดนมาร์ก แคว้นซูเดเตนให้เชคโกสโลวาเกีย และ เมเมลให้ลิทัวเนีย จ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ปีละ 5 พันล้านดอลลาร์ ถูกจำกัดกำลังทหารมีทหารได้ไม่เกิน 100,000 คน ห้ามเกณฑ์ทหารเป็นต้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการกระตุ้นให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขี้น ฮิตเลอร์และพรรคนาซีได้ปลุกระดมต่อต้านการเสียค่าปฏิกรรมสงคราม และนำความอดยาก ยากจนมาให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ความอ่อนแอของ

 องค์การสันนิบาตชาติ ที่ไม่สามารถบังคับประเทศที่เป็นสมาชิกและไม่ปฏิบัติตามสัตยาบันได้ 

ความแตกต่างทางด้านการปกครอง

กลุ่มประเทศฟาสซิสต์มีความเข้มแข็งมากขึ้น ได้รวมกันเป็น มหาอำนาจอักษะ (Berlin-Rome-Tokyo Axis ) จุดประสงค์แรก คือเพื่อต่อต้านรัสเซีย ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ ต่อมาได้ขยายไปสู่การต่อต้านชนชาติยิวและนำไปสู่ความขัดแย้งกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร 

บทบาทของสหรัฐอเมริกา

สหรัฐปิดประเทศโดดเดี่ยว สมัยประธานาธิบดีมอนโร ตามแนวคิดในวาทะมอนโร สหรัฐจะไม่แทรกแซงกิจการประเทศอื่นและไม่ยอมให้ประเทศอื่นมาแทรกแซงกิจการของตนเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ประชาชนจึงเลือกพรรคเดโมแครตเข้ามาเป็นรัฐบาลปกครองประเทศโดยประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี รุสเวลท์ ได้รับเลือกต่อกันถึงสี่สมัย ( ค.ศ.1933 – 1945 )

ชนวนที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ฉนวนโปแลนด์(Polish Corridor) มีชาวเยอรมนีอาศัยอยู่มาก เยอรมนีเสียดินแดนส่วนนี้ให้แก่โปแลนด์ตามสนธิสัญญาแวร์ซาย์ และฉนวนโปแลนด์ยังแบ่งแยกดินแดนเยอรมนีเป็นสองส่วน คือส่วนปรัสเซียตะวันตกและปรัสเซียตะวันออก ฮิตเลอร์ ขอสร้างถนนผ่านฉนวนโปแลนด์ไปปรัสเซียตะวันออก อังกฤษและฝรั่งเศสคัดค้าน ฮิตเลอร์จึงยกเลิกสัญญาที่เยอรมนีจะไม่รุกรานโปแลนด์ และทำสัญญาไม่รุกรานกับสหภาพโซเวียต เยอรมนีเริ่มสงครามด้วยการบุกโปแลนด์ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 แบบสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg)

ฉนวนโปแลนด์
อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศเข้าร่วมสงคราม ด้านมหาสมุทรแปซิฟิก ญี่ปุ่นบุกแมนจูเรียในปี ค.ศ.1931 และเสนอแผนการที่จะสถาปนา “วงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา” เพื่อผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่ อ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 สหรัฐจึงเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยประกาศสงครามเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตร ขณะเดียวกันญี่ปุ่นเปิดสงครามในตะวันออกเฉียงใต้หรือเรียกว่า “สงครามมหาเอเชียบูรพา”

สงครามโลกในยุโรปสิ้นสุดลงเมื่อกองทัพสัมพันธมิตรบุกเข้าเบอร์ลินในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1944 และเมื่อสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ค.ศ.1945 สงครามโลกจึงสิ้นสุดลง

สัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่ ชายฝั่งแคว้นนอร์มังดี วัน V-E DAY
ผลของสงครามโลกครั้งที่สอง 

เกิดองค์การสหประชาชาติเพื่อดำเนินงานแทนองค์การสันนิบาตชาติ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสันติภาพของโลกและให้กลุ่มสมาชิกร่วมมือช่วยเหลือกัน นับว่ามีความเข้มแข็งกว่าเดิม เพราะสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งและมีกองทหารของสหประชาชาติ

ทำให้เกิดสงครามเย็นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้น ประเทศสหภาพโซเวียต ปกครองโดยสมัยสตาร์ลินมีนโยบายขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ไปสู่ ยุโรปตะวันออก และเยอรมนีตะวันออก ซึ่งมีทหารรัสเซียเข้าปลดปล่อยดินแดนเหล่านี้จากอำนาจฮิตเลอร์ในสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่สหรัฐต้องการสกัดกั้นการขยายตัวดังกล่าว และเผยแผ่การปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะดินแดนอาณานิคมที่ประกาศเอกราช เป็นประเทศใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนเกิดสภาวการณ์ที่เรียกว่า สงครามเย็น( Cold War )

47-สงครามโลกครั้งที่ 1

47-สงครามโลกครั้งที่ 1

แผนที่สงครามโลครั้งที่ 1แสดงการรบในยุโรปและตะวันออกกลาง
สงครามโลกครั้งที่ 1

            เริ่มใน ค.ศ. 1914 สิ้นสุดใน ค.ศ.1918 เป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ 2 ค่าย คือ ประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย – ฮังการี และอิตาลี (ผู้นำสำคัญ คือบิสมาร์ค แห่งเยอรมนี) กับฝ่าย ประกอบด้วย Triple Entente ได้แก่ บริเตนใหญ่ ( อังกฤษ ) ฝรั่งเศส และรัสเซีย การรบเริ่มขึ้นหลังการลอบสังหารมกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย – ฮังการี และสิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของมหาอำนาจกลาง หรือ Triple Alliance มีการทำสนธิสัญญาแวร์ซายส์ บังคับให้เยอรมนีและพันธมิตรเสียค่าปฏิกรรมสงครามชดใช้จำนวนมหาศาลและเสียดินแดนที่เป็นอาณานิคมให้แก่ฝ่าย Triple Entente

สาเหตุสงครามโลกครั้งที่ 1 


ลัทธิชาตินิยม

 
การเกิดลัทธิชาตินิยมจากคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ทำให้เกิดระบบรวมรัฐชาติ สร้างระบบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง รัฐชาติในประเทศยุโรปต่างแสวงหาความเป็นมหาอำนาจ ทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ รัฐชาติหมายถึง รัฐหรือประเทศที่ประชาชนมีความรู้สึกผูกพันกัน มีความสามัคคี ภาคภูมิใจในความเป็นชาติ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ความรักชาติที่รุนแรงจนเป็นลัทธิชาตินิยม ทำให้เชื่อว่าชาติตนเหนือกว่าชาติอื่น ผลักดันชาติของตนได้เปรียบชาติอื่นไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ หรือการทหาร นำไปสู่การแข่งขันอำนาจกัน จนกลายเป็นสงคราม เช่น สงครามการรวมอิตาลี การรวมเยอรมนี จนถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง 

ลัทธิจักรวรรดินิยม 

ลัทธิชาตินิยมนำไปสู่ลัทธิจักรวรรดินิยม ลัทธิจักรวรรดินิยม หมายถึงประเทศที่พัฒนา แล้วประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ การทหาร และวิทยาศาสตร์ เข้าครอบครอง ที่ด้อยพัฒนากว่า ลัทธิจักรวรรดินิยมเริ่มจากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ต้องการวัตถุดิบและตลาด มหาอำนาจยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ปรัสเซีย ( เยอรมนี) เนเธอร์แลนด์ ต่างแข่งขันกันขยายอำนาจในการครอบครองดินแดนในทวีปเอเชียอเมริกากลางและอัฟริกาโดยครอบงำทาวัฒนธรรม และวิถีชีวิต เป็นแหล่งเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้เมืองแม่ 

การแบ่งกลุ่มพันธมิตรยุโรป 

นโยบายการรวมกลุ่มที่มีผลประโยชน์ตรงกัน เริ่มต้นใน ค.ศ. 1907 เมื่อ เยอรมัน และออสเตรีย-ฮังการีลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรไตรมิตร (Triple Alliance )ประจันหน้ากับรุสเซีย เนื่องจากเยอรมนี ต้องการไม่ให้รัสเซียเป็นใหญ่ในชนเผ่าสลาฟแหลมสมุทรบอลข่าน ต่อมามีอิตาลีมาร่วมประเทศ เพราะไม่พอใจฝรั่งเศสที่แย่งครอบครองตูนิเซีย ในฐานะรัฐในอารักขา ฝ่ายออสเตรีย – ฮังการีซึ่งต้องการเป็นใหญ่ในแหลมบอลข่านเช่นกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียลงนามในสนธิสัญญาสันธไมตรีไตรมิตร (Triple Entente ) ค.ศ. 1907และเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นด้วย 

ความขัดแย้งเรื่องแหลมบอลข่าน 

สาเหตุสำคัญเกิดจากการที่ออสเตรีย – ฮังการีขัดแย้งกับเซอร์เบีย เรื่องการสร้างเขตอิทธิพลในแหลมบอลข่าน เยอรมนีสนับสนุนออสเตรีย – ฮังการี ขณะที่รัสเซียสนับสนุนเซอร์เบีย ความขัดแย้งขยายความรุนแรงเป็นสงครามระหว่างรัฐในแหลมบอลข่าน มหาอำนาจจึงมีโอกาสแทรกแซงและตั้งกลุ่มพันธมิตร 

จุดระเบิดของสงครามโลกครั้งที่ 1 มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการีคือ อาร์ค ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ กับพระชายาโซเฟีย ถูกลอบปลงพระชนม์ในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1914ที่เมืองซาราเจโว ขณะเสด็จเยือนเมืองหลวงของบอสเนีย โดยคนร้ายชื่อ กาฟริโล ปรินซิพ นักศึกษาชาวบอสเนียสัญชาติเซอร์เบีย ออสเตรียเรียกร้องให้เซอร์เบียปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง เซอร์เบียปฏิเสธออสเตรีย-ฮังการีจึงประกาศสงครามกับเซอร์เบีย 28 กรกฎาคม 1914 รัสเซียแสดงตนว่าเป็นผู้พิทักษ์เผ่าสลาฟจึงระดมพล เยอรมนีประกาศสงครามกับฝรั่งเศสและรัสเซีย ต่อมาอังกฤษเข้าสู่สงครามเมื่อเยอรมนีบุกเบลเยียม และญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามต่อเยอรมนี เพราะมุ่งหวังในอาณานิคมของเยอรมนีในจีน 

ผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 

            1. การสถาปนาองค์การสันนิบาตชาติ แต่มีจุดอ่อนในการรักษาสันติภาพ เพราะรัสเซีย ถอนตัวและสหรัฐอเมริกาไม่เข้าเป็นสมาชิก ทั้งยังไม่มีกองทหารรักษาสันติภาพด้วย 

            2. เกิดสนธิสัญญาสันติภาพที่ประเทศผู้ชนะร่างขึ้นมี 5 ฉบับ 

- สนธิสัญญาแวร์ซายส์ทำกับเยอรมนี เยอรมนีต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลและเสียดินแดนหลายแห่ง ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก ราคาสินค้าตกต่ำ ในเยอรมนีไม่สามารถใช้หนี้สงครามได้และมองสนธิสัญญานี้ว่าไม่เป็นธรรม จนฮิตเลอร์นำมาประณามเมื่อเริ่มมีอำนาจ 

- สนธิสัญญาแซงต์ แยร์แมงทำกับออสเตรีย 
- สนธิสัญญาเนยยี ทำกับบัลแกเรีย 
- สนธิสัญญาตริอานองทำกับฮังการี 
- สนธิสัญญาแซฟส์ทำกับตุรกี ต่อมาเกิดการปฏิวัติในตุรกีจึงมีการทำสนธิสัญญาใหม่เรียกว่าสนธิสัญญาโลซานน์ 

            3. ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และความยากจนต่อเนื่องจากก่อนสงคราม นำไปสู่การที่เลนิน ปฏิวัติเปลี่ยนประเทศรัสเซียเป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 

            4. ในยุโรปมีรูปแบบของรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้แก่รัสเซีย เลนินปฏิวัตินำระบบคอมมิวนิสต์มาปกครองรัสเซียใน ค.ศ. 1917 และในค.ศ. 1924 -1953 สตาลินได้ใช้ระบบเผด็จการที่เน้นการปราบศัตรูทางการเมืองและการผูกขาดอำนาจด้วยความรุนแรงมากขึ้น ส่วนในเยอรมนี ฮิตเลอร์ได้เป็นผู้นำ ใช้ระบบเผด็จการโดยอำนาจพรรคนาซี ตั้งแต่ ค.ศ.1933 และในอิตาลี มุสโสลินีได้ตั้งพรรคฟาสซิสต์ขึ้นในเวลาต่อมา 

            5. เกิดประเทศใหม่ 7 ประเทศเนื่องมาจากการแยกดินแดนได้แก่ ฮังการี ยูโกสลาเวีย โปแลนด์ เชคโกสโลวาเกีย ลิทัวเนีย แลตเวีย แอสโตเนีย

สังคมวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

สังคมวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์
ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

การพัฒนาขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม
     หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475   มีการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดในเรื่องการแต่งกาย ผู้ชายเริ่มแต่งกายแบบสากล คือสวมเสื้อนอกกระดุมห้าเม็ด กางเกงขายาวแบบสากล   รองเท้าหุ้มส้นและสวมถุงเท้า ยกเลิกการนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนและเสื้อราชปะแตน

นโยบายสร้างชาติทางวัฒนธรรมของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม
     ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยหลายประการ คือ
           1. การเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ประเทศไทย” ในปี พ.ศ.2482
           2. ใช้คำว่า “ไทย” กับคนไทย และสัญชาติไทย
           3. กำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น “วันชาติไทย” เริ่มในปีพ.ศ.2482
           4. เปลี่ยนเนื้อร้องเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี ไม่ให้มีคำว่า สยาม
           5. ให้ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกันทั่วประเทศ ในเวลา 08.00 น. เชิญธงชาติขึ้น และเวลา 18.00 น. ชักธงชาติลง
           6. เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก “1 เมษายน” เป็น “1 มกราคม” ตามแบบสากล เริ่ม พ.ศ.2484
           7. การแต่งกาย
                        ข้าราชการให้แต่งเครื่องแบบ
                        ราษฎรทั่วไป                              ผู้ชาย ให้สวมเสื้อนอกคอเปิดหรือปิด นุ่งกางเกงขายาว สวมหมวกปีกสวมถุงเท้า รองเท้า
                            ผู้หญิง สวมเสื้อนอกคุมไหล่ นุ่งผ้าถุง ห้ามนุ่งโจงกระเบน
                การแต่งกายไว้ทุกข์ในงานศพ ผู้ชาย ใช้เสื้อขาว กางเกงขายาวขาว ผ้าผูกคอสีดำ สวมปลอกแขนสีดำ ที่แขนเสื้อด้านซ้าย สวมรองเท้าดำ ถุงเท้าดำ ผู้หญิง ให้แต่งชุดดำล้วน
           8. การกินอาหาร ให้ใช้ช้อนส้อมแทนการใช้มือเปิบ
           9. ห้ามกินหมากโดยเด็ดขาด
         10. ประกาศงดใช้พยัญชนะ 13 ตัว ได้แก่ ฃ ฅ ฒ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฌ ศ ษ ฬ ตัดสระออก 5 ตัว
                        ได้แก่ ฤ ฤา ฦ ฦา ใ แต่ในสมัย นายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็นำกลับมาใช้ใหม่
         11. ให้ใช้คำว่า “ฉัน” , “เรา” , “เขา” , “ท่าน” , “มัน” ใช้คำรับและปฏิเสธว่า “จ้ะ” , “ค่ะ” , “ครับ” , “ไม่”
         12. ให้ใช้คำว่า “สวัสดี” ในโอกาสที่พบกัน
         13. ยกเลิกบรรดาศักดิ์ เช่น เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน ให้ใช้ชื่อและนามสกุลแทน
         14. การตั้งชื่อบุคคลต้องให้เหมาะสมกับเพศและมีความยาวไม่เกิน 3 พยางค์
         15. ตั้งกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ.2495 เพื่อส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรม ภายหลังถูกยุบรวมกับกระทรวงศึกษาธิการ
การฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณี (พ.ศ.2501-2506)สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี
          1. พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา จัดให้มีพิธีเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนามของหน่วยทหารรักษาพระองค์ มีการตกแต่งโคมไฟและประดับธงชาติตามสถานที่ราชการ บ้านเรือน ห้างร้าน เพื่อถวายพระเกียรติ
          2. ประกาศยกเลิกวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ และกำหนดวันชาติใหม่ คือ วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
          3. ฟื้นฟูพระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
          4. ฟื้นฟูพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
          5. ฟื้นฟูพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
การฟื้นฟูพระราชพิธีที่สำคัญ สมัยจอมพลถนอม  กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี
          1. ฟื้นฟูพระราชพิธีรัชดาภิเษก ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบ 25 ปี ซึ่งรัชกาลที่ 5 เคยกระทำมาแล้ว
          2. ฟื้นฟูพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ในปีพ.ศ.2515 โดยคณะรัฐบาลได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ ทรงพระกรุณาสถาปนาเฉลิมพระบรมนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ตามโบราณขัตติยราชประเพณี
การศึกษาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง          1. รัชกาลที่ 7 เห็นความสำคัญของการศึกษาโดยไม่ตัดทอนรายจ่ายด้านการศึกษาเลย ถึงแม้จะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักก็ตาม
          2. หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ก็มีการกำหนดการพัฒนาการศึกษา โดยริเริ่ม วางแผนการศึกษาแห่งชาติ จัดให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
          3. ในปี พ.ศ.2477 จัดตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 2 ของไทย ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7
          4. สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จัดตั้งสภาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 ขยายการศึกษาภาคบังคับ จาก 4 ปี เป็น 7 ปี
          5. ในปี พ.ศ.2520 ลดการศึกษาภาคบังคับ จาก 7 ปี เหลือ 6 ปี (ป.1-ป.6) และเพิ่มระดับมัธยมศึกษาจาก 5 ปี เป็น 6 ปี (ม.1-ม.6)
          6. ปัจจุบันปีพ.ศ.2546 การศึกษาภาคบังคับเพิ่มขึ้นจาก 6 ปี เป็น 9 ปี (จบม.3)
          7. ในปีพ.ศ.2514 รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิด คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
          8. ในปีพ.ศ.2521รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิดแห่งที่ 2 คือมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
          9. ส่งเสริมให้เอกชนจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ปัจจุบันมีจำนวนมากหลายแห่ง เช่น ในภาคเหนือ มีมหาวิทยาลัยพายัพ ที่จังหวัดเชียงใหม่
        10. มหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นล่าสุดในภาคเหนือที่ จังหวัดเชียงรายคือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติแด่ สมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)

ที่มา : ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐและคณะ,หนังสือเรียน ส306 ประเทศของเรา 4 สมบูรณ์แบบ,  (กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช,2542)
          คณะทำงานเฉพาะกิจการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,
           ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,   (กรุงเทพฯ : อัมรินทร์การพิมพ์,2525)                                        
          สุคน  สินธพานนท์ และพรรษมน กิตติสารศักดิ์. สังคมศึกษา ส306. 2542. หน้า 72.
          http://th.wikipedia.org/wiki/

สังคมวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปฏิรูปบ้านเมือง

41-สังคมวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปฏิรูปบ้านเมือง

สังคมวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปฏิรูปบ้านเมือง

สังคมวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปฏิรูปบ้านเมือง
การปรับปรุงทางด้านสังคมในสมัยรัชกาลที่ 4 (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
     ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นช่วงเวลาที่ชาวไทยเริ่มมีการปรับตัวทางด้านสังคมและวัฒนธรรมให้เข้ากับขนบธรรมเนียมประเพณีทางตะวันตกภายหลังจากที่ไทยทำสนธิสัญญาทางการค้ากับ     ชาวตะวันตก

     การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4

  • อนุญาตให้ไพร่เสียเงินแทนการถูกเกณฑ์แรงงานเข้ารับราชการ
  • ให้เสรีภาพแก่สตรีที่บรรลุนิติภาวะในการเลือกคู่ครองโดยพ่อแม่จะบังคับไม่ได้
  • ห้ามพ่อแม่ขายบุตรเป็นทาส
  • ห้ามสามีขายภรรยาเป็นทาสโดยเจ้าตัวไม่สมัครใจ
  • ให้นางแอนนา เลียวโนเวนส์ ชาวอังกฤษ ไปสอนภาษาอังกฤษให้กับพระราชโอรสและธิดา
  • โปรดให้สตรีคณะมิชชันนารีผู้สอนศาสนาคริสต์เข้าไปสอนภาษาอังกฤษให้สตรีในราชสำนัก
การปรับปรุงประเพณีและวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 4     1. ประกาศให้ข้าราชการสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้า
     2. โปรดให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นเพื่อเป็นของที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน
เป็นบำเหน็จรางวัลแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการไทย และชาวต่างประเทศ

     3. ทรงเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยพระองค์ทรงร่วมเสวยด้วย
     4. ฟื้นฟูประเพณีการตีกลองร้องฎีกา เพื่อให้ทราบถึงทุกข์สุขของราษฎรโดยจะเสด็จ
ออกมารับฎีกาด้วยพระองค์เอง ทุกวันโกณ เดือนละ 4 ครั้ง
     5. ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกนับถือศาสนา
     6. ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกประกอบอาชีพ
     7. กำหนดให้ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาล ซึ่งรัชกาลที่ 4
ทรงสร้างขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร
     8. รัชกาลที่ 4 ทรงก่อตั้งธรรมยุตินิกาย เมื่อครั้งยังผนวชที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร ในสมัยรัชกาลที่ 3
การปรับปรุงด้านสาธารณสุขสมัยรัชกาลที่ 4
     
ด้านการสุขาภิบาล สมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มมีการสุขาภิบาลตามคำแนะนำของบาทหลวงมิชชันนารีบ้างแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด

ที่มา : ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐและคณะ,หนังสือเรียน ส306 ประเทศของเรา 4 สมบูรณ์แบบ,
          (กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช,2542)
          คณะทำงานเฉพาะกิจการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,
           ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,   (กรุงเทพฯ : อัมรินทร์การพิมพ์,2525)                                        
          สุคน  สินธพานนท์ และพรรษมน กิตติสารศักดิ์. สังคมศึกษา ส306. 2542. หน้า 72.
          http://atipong2505.blogspot.com/2009/02/blog-post.htm

สังคมวัฒนธรรมไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

40-สังคมวัฒนธรรมไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

สังคมวัฒนธรรมไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

สภาพสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น             
     สภาพสังคมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีลักษณะโครงสร้างไม่แตกต่างจากสมัยอยุธยาและธนบุรี ลักษณะโครงสร้างของสังคมไทยสมัยนี้  มีการแบ่งชนชั้น ถึงแม้จะไม่มีการแบ่งวรรณะอย่างอินเดีย แต่ฐานะความเป็นอยู่ของผู้คนก็แตกต่างกัน

องค์ประกอบของสังคมไทยแบ่งเป็น 4 ชนชั้น
     1. เจ้านาย  
ได้แก่ พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ พระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีลักษณะเป็นทั้งเทวราชาและธรรมราชา 
                    
     2. ขุนนางและข้าราชการ
                    
     3. ไพร่  เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แบ่งเป็น ไพร่หลวง และไพร่สม
      
     4. ทาส   ชนชั้นต่ำสุดในสังคมไทย ไม่มีอิสระในการดำเนินชีวิต ชีวิตขึ้นอยู่กับนายทาส แบ่งเป็น ทาสเชลย  ทาสในเรือนเบี้ย  ทาสสินไถ่  ทาสได้มาแต่บิดามารดา  ทาสที่เลี้ยงไว้เมื่อเกิดทุพภิกขภัย  ทาสที่ช่วยมาจากทัณฑ์โทษ และทาสท่านให้  ทาสที่ทำความดีความชอบต่อบ้านเมืองสามารถเลื่อนฐานะตนเองสูงขึ้นเป็นขุนนางได้ ส่วนขุนนางที่ทำผิดก็สามารถลดฐานะลงเป็นทาสได้เช่นกัน

ที่มา : ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐและคณะ,หนังสือเรียน ส306 ประเทศของเรา 4 สมบูรณ์แบบ,
          (กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช,2542)

          คณะทำงานเฉพาะกิจการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,
           ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,   (กรุงเทพฯ : อัมรินทร์การพิมพ์,2525)                                        

          สุคน  สินธพานนท์ และพรรษมน กิตติสารศักดิ์. สังคมศึกษา ส306. 2542. หน้า 72.
          http://www.qoolive.com/show_blog/

39-ลักษณะทางเศรษฐกิจไทยสมัยรัตนโกสินทร์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลักษณะทางเศรษฐกิจไทยสมัยรัตนโกสินทร์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

39-ลักษณะทางเศรษฐกิจไทยสมัยรัตนโกสินทร์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ลักษณะทางเศรษฐกิจไทยสมัยรัตนโกสินทร์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
การสร้างและพัฒนาชาติด้านเศรษฐกิจ 
     ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คณะราษฎรได้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจปรากฏในหลัก 6 ประการ โดยขั้นแรกรัฐมอบหมายให้    หลวงประดิษฐ์ มนูธรรม(นายปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง) ซึ่งมีใจความสำคัญว่า
1.รัฐบาลจะบังคับซื้อที่ดินทางกสิกรรมของราษฎรทั้งหมดโดยจ่ายเงินเป็นพันธบัตรรัฐบาล
2.รัฐจะจัดการเศรษฐกิจทั้งหมดในรูปของระบบสหกรณ์
3.บุคคลที่มีอายุระหว่าง 18-55 ปีจะเป็นข้าราชการทำงานให้รัฐตามความสามารถและ
 คุณวุฒิของตน โดยได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลหรือสหกรณ์ตามที่กำหนดซึ่ง                  
 เค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปรวมทั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า
เจ้าอยู่หัว เพราะเป็นนโยบายของระบอบคอมมิวนิสต์จึงล้มเลิกไปในที่สุด

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
1.ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเริ่มก่อตัวช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะใช้เงินในการปรับปรุง
   หน่วยราชการและบำรุงศิลปวัฒนธรรมจำนวนมาก      และมีรายรับลดลงเพราะเกิดปัญหาขัดแย้งในยุโรปจนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1
2.สมัยรัชกาลที่ 7 เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเพราะสินค้าไทยขายไม่ได้ เพราะต่างชาติไม่มี
   การสั่งซื้อ
3.สมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ซึ่งกระทบถึง
   ประเทศไทยด้วย

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของรัชกาลที่ 7
1.ยุบเลิกหน่วยราชการ
2.ปลดข้าราชการออกบางส่วน
3.ยอมลดรายจ่ายประจำปีของพระองค์ จาก 9 ล้าน เหลือ 6 ล้าน และ 3 ล้านบาทในที่สุดแต่
   ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพราะประเทศไทยขาดแคลนผู้ชำนาญการทางเศรษฐกิจและไม่มี
    แผนพัฒนาเศรษฐกิจ
 
“ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของรัชกาลที่ 7 เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่คณะราษฎรอ้างเป็นสาเหตุในการปฏิวัติเมื่อปีพ.ศ.2475”

เศรษฐกิจไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 
หลังการเปลี่ยนแปลงปกครอง พ.ศ.2475 เศรษฐกิจไทยเริ่มกระเตื้องขึ้น
                   สมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ( ป. พิบูลสงคราม) เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบาย  สร้างชาติทางเศรษฐกิจ โดย
1.กระตุ้นให้ประชาชนช่วยตัวเองในทางเศรษฐกิจ เช่น ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน
2.โฆษณาคำขวัญ “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ” เพื่อกระตุ้นให้คนไทยใช้สินค้าไทยและตื่นตัวในเรื่องชาตินิยม 3.เริ่มใช้นโยบาย รัฐวิสาหกิจ ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม จำนวนมากมาย
4.สงวนอาชีพบางอย่างให้คนไทย เช่น ตัดผม
5.ตั้งกระทรวงอุตสาหกรรม และตั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศ
เศรษฐกิจไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยประสบความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจอย่างหนักเพราะ
1.การขนส่งหยุดชะงัก ทำให้ขาดแคลนสินค้า ยารักษาโรค น้ำมัน และสินค้า
   ไทยขายไม่ได้
2.ญี่ปุ่นบังคับให้ไทยขายสินค้าให้ในราคาถูก ลดค่าเงินบาท 1 บาทเท่ากับ 1 เยน
   ญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรไทยเอง นำมาใช้ในประเทศไทย ทำให้ไทยเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง 3.ไทยเกิดน้ำท่วมอย่างหนัก ในเขตที่ราบภาคกลางทั้งหมด
เศรษฐกิจไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
-ไทยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหลายอย่าง
-รัฐบาลแก้ปัญหาโดยจัดทำโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ (วางแผนไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5) โดยกู้เงินจากธนาคารโลกในปี พ.ศ.2493 นำมาสร้างเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2500 สามารถส่งน้ำช่วยเหลือการเกษตรในพื้นที่ภาคกลาง 
-ในปีพ.ศ.2504 กู้เงินจากธนาคารโลก เพื่อนำมาสร้างเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก       สร้างเสร็จในปีพ.ศ.2507 สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในภาคกลางและภาคเหนือรวม 36 จังหวัดและส่งน้ำไปใช้ในการเกษตร


เศรษฐกิจไทยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
 
รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
-ประเทศไทยเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งแรกในปีพ.ศ.2504   เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นระบบ
-แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ช่วงแรก มุ่งเน้นสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค
 ได้แก่ ทางหลวง ไฟฟ้า การชลประทาน การสื่อสาร โทรคมนาคม
-ส่งเสริมการผลิตพืชไร่ ที่สำคัญได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปอ อ้อย ฯลฯ
-เกษตรกรเริ่มหันมาใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถแทรกเตอร์ รถไถเดินตาม เครื่องสูบน้ำ
  ปุ๋ยเคมี เมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ
-มีอุตสาหกรรมเกิดใหม่หลายอย่าง เช่น สิ่งทอ ผลไม้กระป๋อง เครื่องใช้ไฟฟ้า
  การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ห้องเย็น
-มีนโยบายลดการลงทุนด้านรัฐวิสาหกิจ โดยขายให้เอกชนดำเนินการเพราะรัฐทำแล้ว
  ขาดทุนเนื่องมาจากการฉ้อราษฎรบังหลวง ปัจจุบันเหลือเพียง   1.ไฟฟ้า  2.ประปา  3.โทรศัพท์  4.รถเมล์(ในกรุงเทพฯ)  5.รถไฟ  6.การบิน  7.ยาสูบ  8.สลากกินแบ่ง -ส่งเสริมให้เอกชนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย   โดยสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนทุกอย่าง ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี   มีต่างประเทศมาลงทุนในไทยมากมาย เช่น ญี่ปุ่น  ฮ่องกง  ไต้หวัน  ยุโรป  อเมริกา 

เศรษฐกิจไทยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
-หลังจากใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ มาได้ 15 ปี (ฉบับที่ 1-3) ความเจริญกระจุกอยู่ที่
  ส่วนกลาง ทำให้ชาวชนบทอพยพเข้าสู่เมือง     ทำให้เกิดปัญหาประชากรหนาแน่น   แหล่ง เสื่อมโทรม   ในกรุงเทพ  ทำให้เกิดปัญหามากมาย   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ   ฉบับที่ 4-5   จึงเน้นการกระจายรายได้ออกสู่ชนบท     โดยขยาย               อุตสาหกรรมและโครงการใหญ่ๆ สู่ภูมิภาค
-หลังจากประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ มาได้ประมาณ 20 ปี มูลค่าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นถึง 15 เท่าตัว   สินค้าใหม่ๆ ที่ทำรายได้สูง ได้แก่ สิ่งทอ อัญมณี  แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ประมงแช่แข็ง ไก่แช่แข็ง   และรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งได้รับความนิยมสูงมาก ทำรายได้สูง-
-ในปี พ.ศ.2524 ไทยมีการขุดพบหลุมก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์   ได้มีการเร่งรัดพัฒนาประเทศเพื่อเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (นิกส์) โดยส่งเสริม
-โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์   มุ่งเน้นให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก กำหนดให้ เขตมาบตาพุด จังหวัดระยอง เป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น   โรงงานแยกก๊าซ ปิโตรเคมี ปุ๋ยเคมี กำหนดให้แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เป็นที่ตั้งท่าเรือพาณิชย์และอุตสาหกรรม      ขนาดกลางและย่อม เพื่อการส่งออก และมีหลายโครงการดำเนินเสร็จแล้วและมี     โรงงาน   อุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย
-หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรง ปีพ.ศ.2531 (ไต้ฝุ่นเกย์) พลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ   ให้ความเห็นชอบให้มีโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) เพื่อพัฒนาทรัพยากร เช่น   ยางพารา กาแฟ มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ดีบุก   ก๊าซธรรมชาติและอุตสาหกรรมประเภทซ่อมเรือ ต่อเรือ ประมง   การขนส่งเชื่อม     ฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย   การบริหารประเทศในยุคต่อๆมาจนถึงปัจจุบันต่างก็ยึดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหลัก จนถึงปัจจุบัน   มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549)
-เศรษฐกิจแบบฟองสบู่ เกิดขึ้นสมัย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ   เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นลักษณะที่ดูเหมือนเศรษฐกิจในประเทศขยายตัว แต่ไทยก็เป็นหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก   ประชาชนใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย 
ผลเสียหายร้ายแรงของเศรษฐกิจแบบฟองสบู่
1.ค่าของเงินบาทเริ่มตกต่ำ แต่รัฐก็พยายามรักษาค่าเงินบาทสูงกว่าความเป็นจริง
2.สมัยพลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ เงินคงคลังที่เคยมีสูงถึง 4    หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐร่อยหรอลงเพราะรัฐบาลนำไปพยุงค่าของเงินบาท จนเหลือเพียง 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ    จนทำให้ต่างประเทศไม่มั่นใจเศรษฐกิจไทย มีการถอนการลงทุน ธุรกิจต่างๆ หยุดชะงัก    โรงงานอุตสาหกรรมปิดกิจการหลายแห่ง ประชาชนตกงาน เกิดภาวะ     เงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆจนรัฐบาลต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวและขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ    (IMF) โดยขอกู้เงินมาช่วยพยุงภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เรียกว่า “เศรษฐกิจยุค IMF” ประชาชนเรียกร้องให้
    พลเอกเชาวลิต    ยงใจยุทธ ลาออก
3.หลังจากพลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ ลาออก นายชวน  หลีกภัย  เข้ามารับหน้าที่แทน
   สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ไทยก็ยังเป็นหนี้ IMF และใช้หนี้  
   ต่อไปในปีพ.ศ.2542    เศรษฐกิจไทยเริ่มกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย
4.ยุคของรัฐบาลที่นำโดย พรรคไทยรักไทย มีนายกรัฐมนตรี คือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ    ในหลายด้าน จนภาวะเศรษฐกิจไทยดีขึ้น มีการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก    และที่สำคัญชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น เพราะรัฐบาลนี้เห็นความสำคัญของคนจน    และสามารถใช้หนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2546    ซึ่งถือเป็นผลงานสำคัญของรัฐบาลชุดนี้
5.ปัจจุบันเป็นยุคของรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ มีนายกรัฐมนตรี คือ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ     เป็นยุคที่ค่าเงินบาทแข็งค่า  ปัจจุบันเกิดปัญหาราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ขึ้นราคา    ทำให้เกิดผลกระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันปาล์ม



ที่มา : ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐและคณะ,หนังสือเรียน ส306 ประเทศของเรา 4 สมบูรณ์แบบ,
          (กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช,2542)

          คณะทำงานเฉพาะกิจการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,
          ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ , (กรุงเทพฯ :  อัมรินทร์การพิมพ์,2525)
          สุคน  สินธพานนท์ และพรรษมน กิตติสารศักดิ์. สังคมศึกษา ส306. 2542. หน้า 72
          http://4.bp.blogspot.com/_sQrXJzxTtT0/
          http://www.weddinginlove.com/articles/